Home Sweet Home

วันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ใช้ "น." หรือ "น.ส." ดีหนอ เมื่อจดทะเบียนสมรส


ในอดีตเป็นที่รู้กันดีในหมู่สาวๆ ไม่ว่าจะเป็นสาวน้อย หรือสาวใหญ่ ว่า หลังจากจดทะเบียนสมรสแล้ว ผู้หญิงไทยจะต้องถูกตีตราขึ้นทะเบียน เปลี่ยนคำนำหน้าของตนจาก “นางสาว” มาเป็น “นาง” จึงทำให้ผู้หญิงหลายคนมีคำถามกับตัวเองหลังจากแต่งงานว่า จะจดหรือไม่จดทะเบียนสมรสดีหนอ ปัจจุบันผู้หญิงไทยไม่ห่วงและกังวลแล้วว่า แต่งแล้วจะจดหรือไม่จดทะเบียนสมรสดีหนอ เพราะได้มีพระราชบัญญัติ คำนำหน้านามหญิง พ.ศ.2551 ในกฎหมายมาตราที่ 5 คือ

มาตรา 5 ว่าด้วยหญิงซึ่งจดทะเบียนสมรสแล้ว จะใช้คำนำหน้านามว่า “นาง” หรือ “นางสาว” ได้ตามความสมัครใจ โดยให้
แจ้งต่อนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว

กว่ากฏหมายฉบับนี้จะคลอดออกมาได้ ก็ต้องรวบรวมเหตุและผล นานาประการ ที่จะให้ผู้หญิงไทยได้รับสิทธิเท่าเทียม
กับผู้ชายไทยอย่างแท้จริงโดยเฉพาะเรื่อง คำนำหน้าของผู้หญิงหลังจดทะเบียนสมรสที่เห็นได้ชัดว่ายังมีความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกับผู้ชาย โดยผู้หญิงจะต้องถูกตีตราเปลี่ยนคำนำหน้าจาก “นางสาว” เป็น “นาง” ในขณะที่ผู้ชายที่ผ่านการจดทะเบียนสมรสมาแล้วสักกี่ครั้งก็ตาม ก็ยังคงเป็น นาย ตลอดไป

ดังนั้น ผู้หญิงไทยที่แต่งงานและจดทะเบียนสมรสแล้ว สามารถใช้คำนำหน้านามว่า "นาง" หรือ "นางสาว" ได้ตามความสมัครใจตามพระราชบัญญัติ คำนำหน้านามหญิง พ.ศ. 2551 ซึ่งแต่เดิมต้องเปลี่ยนจาก "นางสาว" มาเป็น "นาง" เท่านั้น

พระราชบัญญัติฉบับนี้นำมาซึ่งความเหมาะสมในด้านความเท่าเทียมกันระหว่างผู้หญิง และ ผู้ชายในสังคมไทย และยังทำให้ผู้หญิงรู้สึกมั่นใจที่จะตัดสินใจใช้ชีวิตคู่กับผู้ชายที่ได้เลือกสรรแล้วอย่างถูกต้อง ตามวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงาม

และเป็นประโยชน์ทั้งทางตรง และทางอ้อม ต่อผู้หญิงไทยทุกคน โดยทำให้ผู้หญิงกล้าที่จะดำเนินและมีชีวิตคู่ไปพร้อมกับความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของตนได้อย่างมั่นใจ เพราะมีสิทธิ เสรีภาพที่จะเลือกเป็น หรือ ไม่เป็น นาง ตามความสมัครใจ หลังจดทะเบียนสมรส และไม่ต้องคอยเปลี่ยนคำนำหน้า จากนางสาว เป็น นางเมื่อจดทะเบียนสมรส หรือสามารถใช้นางสาวต่อไปได้ถ้าต้องจดทะเบียนหย่าเมื่อชีวิตคู่ไม่สมดังหมาย

กระนั้น จึงไม่ต้องสงสัยแล้วว่าผู้หญิงส่วนใหญ่ที่จดทะเบียนสมรสแล้วแล้วจะเลือกใช้คำนำหน้าว่า “น.” หรือ “น.ส.” ดีหนอ อย่างไรก็ดี คำนำหน้านามของผู้หญิงจะเป็นอะไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงจะละทิ้งหน้าที่ รู้ดี รู้ชอบ ในบทบาทหน้าที่ของความเป็นแม่ และเป็นภรรยา ซึ่งต้องมีบทบาทหน้าที่ดูแลปรนนิบัติสามีและเลี้ยงดูบุตรเพื่อความสุขแห่งชีวิตคู่และครอบครัว

เขียนโดย อรุณวรรณ เจิมจำรูญ : นามปากกา ผู้ใฝ่ดี

3 ความคิดเห็น: