Home Sweet Home

วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2553

วันเสาร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2553

มรดก


ทรัพย์มรดกตกทอดอย่างไร
การตกทอดแห่งทรัพย์มรดก ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้บัญญัติไว้สรุปได้ดังนี้

1.เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท และเมื่อบุคคลใดต้องถือว่าถึงแก่ความตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท ความหมายของคำว่า "ตาย" ในที่นี้ จะต้องเป็นกรณีที่บุคคลใดตายโดยธรรมชาติหรือตายโดยกฎหมายสมมติที่เราเรียกว่า "การสาบสูญ"

2.กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ ซึ่งจะขออธิบายว่าสิ่งใดเป็นทรัพย์มรดก และสิ่งใดไม่เป็นทรัพย์มรดก คือ

2.1 มรดกหรือกองมรดก ได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดจนสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ ลิขสิทธิ์ สิทธิในเครื่องหมายการค้า หุ้นในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน สิทธิเรียกร้องที่มีค่าหรือราคาเป็นเงินได้ หน้าที่และความรับผิดของเจ้ามรดก และรวมถึงสิทธิต่างๆ บางประการ เช่น สิทธิเหนือพื้นดินซึ่งอาจโอนและรับมรดกกันได้ สิทธิตามสัญญาเช่าซื้อ สิทธิตามสัญญาซื้อขาย ขายฝาก สัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่า (ที่เราเข้าใจกันว่า ค่าเซ้งหรือค่าแป๊ะเจี๊ยะ) สิทธิเรียกร้องค่าชดเชยที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างถือว่าสิทธินี้เป็นมรดกย่อมตกทอดแก่ทายาทของลูกจ้างที่ตายได้ สิทธิเหล่านี้ไม่เป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ตาย จึงถือว่าเป็นมรดก

2.2 กรณีไม่เป็นมรดก ได้แก่ สิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ซึ่งตามกฎหมายหรือโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ เช่น สิทธิอาศัย สิทธิเก็บกินซึ่งสิ้นไปเมื่อผู้ทรงสิทธิเก็บกินถึงแก่ความตาย ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ สิทธิการเช่าซึ่งเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้เช่า เมื่อผู้เช่าตายไปสัญญาเช่าเป็นอันสิ้นสุดลง ไม่เป็นมรดกตกทอดไปยังทายาท เหล่านี้เป็นสิทธิเฉพาะตัวผู้ตายเท่านั้น

3. ทายาทไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน หากว่ากองมรดกมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์มรดก เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิฟ้องร้องเอาจากกองมรดกได้เพียงเท่าที่ทรัพย์มรดกมีอยู่ ทายาทไม่ต้องรับผิดเกินไปกว่านั้น

4. กองมรดกย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยสิทธิตามกฎหมายหรือโดยพินัยกรรม ซึ่งทายาทที่มีสิทธิตามกฎหมาย เรียกว่า "ทายาทโดยธรรม" และทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรม เรียกว่า "ผู้รับพินัยกรรม"

คำว่า "ทายาท" หมายถึง ผู้ที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามที่กฎหมายมรดกกำหนดไว้ มี 2 ประเภท คือ ทายาทโดยธรรม และผู้รับพินัยกรรม บุคคลที่จะรับมรดกได้ในฐานะทายาทโดยธรรมนั้นมีได้แต่เฉพาะบุคคลธรรมดาเท่านั้น แต่ผู้รับพินัยกรรมอาจมีได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล

ดังนั้น จึงสรุปหลักได้ว่า การตกทอดแห่งทรัพย์มรดก โดยหลักแล้ว เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กรรมลง สิทธิในทางทรัพย์สินของผู้ตายย่อมตกทอดไปยังทายาททันที แม้จะยังไม่มีการเปลี่ยนชื่อโอนกรรมสิทธิก็ตาม ทั้งสิทธิและหน้าที่และความรับผิดต่างๆ แต่กฎหมายได้จำกัดความรับผิดของทายาทไว้เพียง "ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน" ฉะนั้น ทายาทจะปฏิเสธหน้าที่และความรับผิดในกรณีที่ทรัพย์สินที่จะตกทอดมาเป็นมรดกมีน้อยกว่าหนี้สินไม่ได้ และเจ้าหนี้ย่อมมีอำนาจฟ้องทายาทนั้นได้ แม้ทายาทจะไม่ได้รับมรดกก็ตาม

วันอังคารที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2553

รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม “สินสมรส-สินส่วนตัว“

เงินทองเป็นของนอกกาย แต่ก็น้อยคนนักที่จะหักใจ ไม่ว่าจะเป็นพี่น้อง หรือ พ่อแม่ลูกก็ตาม เงินก็ทำให้ความรักของ คนเหล่านั้นหดหายไปได้

้หลายคู่ที่แต่งงานโดยไม่ได้คำนึงถึงเธอรวย หรือ ฉันจน หรือใครจะคุมกองคลังของครอบครัว แต่เมื่อความรักล่มสลาย
ทั้งสองฝ่ายต่างต้องประหลาดใจที่กฎหมายระบุต่างจากที่น่าจะเป็น หลายรายเป็นฝ่ายเข้ามาควบคุมกำกับดูแลการใช้จ่าย
ในครอบครัว แต่เอาเข้าจริงกลับต้องสูญเสียสิ่งที่คิดว่าเป็นสิทธิของตัวเอง เพราะกฎหมายกับความเข้าใจนั้นเป็นคนละเรื่องเดียวกัน

เมื่อแต่งงานกันแล้ว ทรัพย์สินจะถูกจัดสรรเป็นส่วน คือ

ส่วนที่เป็นสินสมรส (คือ เป็นเจ้าของทรัพย์สินร่วมกัน มีส่วนแบ่งกันคนละครึ่ง)

ส่วนที่เป็นสินส่วนตัว (คือ เป็นทรัพย์สินของใครของมัน ไม่กระเด็นไปยังภรรยาหรือสามี)
แต่อาจจะสับสนบ้างว่า อย่างไหนที่จะส่วนตัว อย่างไหนที่จะร่วมกันเป็นเจ้าของตามกฎหมาย

“สินสมรส” คือ ทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมรส และบรรดาที่เป็นสินส่วนตัวด้วย ส่วนสินส่วนตัวนั้น ได้แก่ ทรัพย์สินที่มีอยู่ แล้วก่อนสมรส หรือบรรดาที่เป็นเครื่องใช้ส่วนตัวทั้งหลาย จนถึงเครื่องประดับตามฐานะ รวมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ แต่หลายคนก็ไม่รู้ว่านอกจากนั้นแล้ว กฎหมายยังขยายความถึงทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสที่มีคนยกให้
หรือได้มรดกมาด้วย แต่ถ้ายกให้หรือเป็นมรดกตามพินัยกรรมที่ระบุว่าให้เป็นสินสมรส ก็ต้องเป็นสินสมรส

เรามักได้ยินข่าวที่พ่อแม่ไม่อยากยกที่ดินให้ลูกสาวที่แต่งงานแล้ว เพราะกลัวจะกลายเป็นสินสมรส แท้จริงแล้ว การยกให้ในระหว่างสมรส ไม่ได้ทำให้ทรัพย์สินนั้นกลายเป็นสินสมรส เว้นเสียแต่ระบุในหนังสือยกให้ว่าเป็นสินสมรส ยิ่งถ้าเป็นมรดกก็แน่นอนที่จะเป็นสินส่วนตัว คู่สมรสจะได้ส่วนแบ่งในสินส่วนตัวต่อเมื่อเราจากโลกนี้ไปแล้ว สินส่วนตัวจึงกลายเป็นมรดก

เวลาจะแต่งงานก็ไม่ค่อยคิดเรื่องนี้ จะมานึกออกก็ตอนต้องแบ่งสมบัติ ซึ่งมักจะแบ่งตอนที่ฝ่ายหนึ่งอยากหย่ากับอีกฝ่ายหนึ่ง โดยเฉพาะบ้านที่ใช้เป็นเรือนหอของเขาและเธอที่เคยสร้างด้วยเงินส่วนตัวของฝ่ายหนึ่ง หรือจากการที่พ่อแม่ของฝ่ายหนึ่งยกให้เป็นของขวัญแต่งงาน

แบบนี้ไม่เหมือนการให้ของขวัญในวันฉลองแต่งงานที่ถือซอง ถือของกันมาเอิกเกริก อย่างนั้นเป็นการให้ที่ชัดเจน ให้แก่คู่บ่าวสาวทั้งสองเนื่องในโอกาสแต่งงาน เป็นสินสมรสแน่นอน แต่ถ้าให้ที่ดิน บ้าน จะให้แน่ต้องสืบตามที่กฎหมายว่าไว้ก็คือ การให้จะมีผลสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนการให้ที่สำนักงานที่ดิน และในการให้ที่จะเป็นสินสมรสนั้น กฎหมายก็เขียนไว้ชัดแจ้งว่า การให้เป็นหนังสือยกให้ต้องระบุว่าเป็นสินสมรส ซึ่งจะเป็นสินสมรส ดังนั้น ถ้าจะให้ใครคนนึงหรือจะให้ทั้งสอง ก็ควรระบุให้ชัดเจน

ยกตัวอย่าง เช่น สมศักดิ์มีเงินฝากในธนาคารก่อนแต่งงาน เป็นเลข 6 หลัก เขาไม่คิดจะปกปิดภรรยาเพราะทราบดีว่า ถึงรู้ไป ก็ไม่น่าเดือดร้อน เพราะเขามีบัญชีร่วมระหว่างเขากับภรรยาแล้ว ส่วนบัญชีเดิมเป็นสินส่วนตัวของเขา แต่หลังจากที่เขากับเธอมีปัญหาจนถึงขั้นแยกทางกัน เงินในบัญชีส่วนตัวของเขาก็ถูกนำมาเป็นเงื่อนไขในการแบ่งสมบัติ และนำไปสู่การฟ้องศาล

ตามกฎหมาย แม้เงินฝากที่ธนาคารในบัญชีของสมศักดิ์จะเป็นเงินส่วนตัวที่มีก่อนสมรส แต่ในการฝากเงินย่อมต้องมีดอกผล งอกเงย สมศรีผู้เป็นภรรยาของสมศักดิ์ไม่ลืมข้อนี้ เธอจึงอ้างเอาดอกเบี้ยเงินฝากของบัญชีดังกล่าว ซึ่งถือเป็นสินสมรสมาขอแบ่งด้วย เมื่ออยู่ด้วยกันกว่า 6ปี จึงมีเงินฝากหลายล้าน งานนี้สมศรีอดีตคุณผู้หญิงของสมศักดิ์มีส่วนแบ่งจากดอกเบี้ยไม่น้อยทีเดียว

ชื่อที่ปรากฏในเอกสารแสดงความเป็นเจ้าของ ก็ไม่ได้หมายความว่า จะทำให้สินสมรสกลายเป็นสินส่วนตัว เพราะกฎหมาย กล่าวว่า ถ้ากรณีที่สงสัยให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส ฝ่ายที่เถียงว่าไม่ใช่ ต้องมีภาระหน้าที่พิสูจน์ให้ได้ ถ้าสมศักดิ์เห็นว่า ตัวเองทำงานงกเงิ่นอยู่คนเดียว จึงสมควรควบคุมดูแลด้านการเงินทุกอย่างอยู่ในชื่อตัวเขาเอง เงินทองทรัพย์สินเหล่านนั้นก็ยังเป็นสินสมรสอยู่ดี แม้จะไม่มีชื่อภรรยาปรากฏอยู่ก็ตาม

ไม่ว่าจะมีชื่อใครอย่างไร แต่เมื่อเป็นสินสมรสแล้ว กฎหมายให้อำนาจทั้งสองฝ่าย ในการจัดการทรัพย์สินนั้นได้โดยอิสระ ไม่ต้องมาขออนุมัติก่อน เว้นแต่เสียบางเรื่องที่อาจจะกระทบกระเทือนถึงความมั่นคงทางการเงินของครอบครัว กฎหมายก็จะบังคับให้ต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง

ผู้เขียนเองก็มี caseหนึ่งที่กว่าจะเข้าใจถ่องแท้ในเรื่องสินสมรส หรือสินส่วนตัว ก็เล่นเอาเสียเงินซื้อที่ดินไปหลายแปลง โดยการซื้อที่ดินของพ่อแม่สามีในราคาถูกแบบขายให้ลูกหลาน โดยเมื่อซื้อแล้วทางพ่อแม่สามีก็โอนให้สามีแบบให้โดยเสน่ห์หา เพื่อผลประโยชน์ทางภาษีที่จะได้ชำระน้อยลงกว่าการซื้อขาย แต่สุดท้ายตามกฎหมายแล้วสินทรัพย์ที่ได้มาจาก บิดา มารดา ที่โอนให้แบบเสน่ห์หาก็ต้องอันตรธานมาเป็นสินส่วนตัวของสามีไปฉิบ ซึ่งไม่ใช่สินสมรส ถึงแม้ว่าเราจะใช้เงินที่หาได้ระหว่างสมรส.... แต่ผู้เขียนก็ไม่รู้สึกโกรธอะไร เพราะว่าตอนนั้นตนเองไม่มีความรู้ความเข้าใจที่แท้จริงในเรื่องกฎหมายการสมรสและถึงแม้ว่าจะรู้ว่าเขาหรอก แต่เต็มใจให้หรอก และยินยอมก็เพราะว่ารักและไว้ใจสามี เพราะเขาเป็นคนดี และรู้สึกดีใจซะอีกที่ได้เขามาเป็นสามี และพ่อของลูก

สุดท้ายนี้ขอให้ท่านผู้อ่านทุกท่านมีความสุขสมรักสมรสทุกสิ่งอย่างนะคะ....

เขียนโดย อรุณวรรณ เจิมจำรูญ (แอนนี่) : นามปาก ผู้ใฝ่ดี

วันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2553

ยืมเขามา


เวลาใครเขาให้เรายืมอะไรก็คงดีอกดีใจไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเพราะเขาเอื้อเฟื้อหรือว่าเขาเกรงใจเราจึงทำให้อย่างเสียไม่ได้ก็ตามที อย่าคิดว่าปล่อยไปตามนั้น เพราะมันเป็นเรื่องของน้ำใจเพียงอย่างเดียว เรื่องแบบนี้กฎหมายก็ยังขอเข้ามาเกี่ยวจนได้

การให้ยืมถือเป็นสัญญาอย่างหนึ่งที่ไม่ต้องพึ่งตัวหนังสือเป็นสัญญา เว้นแต่ว่าเป็นเรื่องของการยืมเงินที่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างที่เคยเล่าสู่กันไปแล้ว เมื่อยืมกันก็หมายความว่า ฟรี! ไม่มีค่าตอบแทนในทางกฎหมาย แต่จะไปตอบแทนด้านน้ำใจก็ว่ากันไปอีกเรื่องหนึ่ง เพียงแค่คนให้ยืมส่งมอบของที่ยืมให้ไปก็เป็นอันใช้ได้แล้ว สำคัญที่เวลารับของไปก็ต้องให้แน่ใจว่าใช่อย่างที่ต้องการ หรือมีสภาพใช้งานได้ไม่ได้เสียหายตรงไหน ถ้าจะมีความบกพร่องหรือตำหนิอย่างไร ก็ต้องบอกกล่าวให้รู้กันไว้ก่อนรับของไป เพราะเวลาคืนของจะต้องคืนอย่างที่ได้มาจะทำหน้าตาหรือสภาพเปลี่ยนไปหรือเสียหายไม่ได้เด็ดขาด ระหว่างเอาไปใช้จึงต้องดูแลรักษาให้เป็นอย่างดีเหมือนกับเป็นของของเราเอง มันอาจต้องลงทุนกันบ้างในการระวังรักษา เพราะว่าเอาของเขามาฟรีๆ แบบนี้ก็ต้องมีน้ำใจกลับไปบ้าง การระวังรักษาก็จะมาใช้มาตรฐานส่วนตัวไม่ได้ กฎหมายใช้ว่า "วิญญูชน" คือ คนทั่วไปโดยปกติที่พึงจะต้องมีต้องทำ แม้เราจะเป็นคนชุ่ยแค่ไหนกับของตัวเองก็จะทำอย่างนั้นกับของที่ยืมมาไม่ได้ เว้นแต่โดยสภาพของมันอาจต้องเสื่อมไป เช่น ยืมรถไปใช้งานก็คงต้องมีการเสื่อมสภาพไป สำคัญว่าเราใช้โดยบำรุงรักษาอย่างดีก็แล้วกัน

การยืมของไปถ้าระบุวัตถุประสงค์เอาไว้ก็จะใช้เบี่ยงเบนไปไม่ได้ เช่นยืมชุดเสื้อผ้าไปจัดวางโชว์ หรือยืมถ้วยโถโอชามมาตั้งให้คนดู แล้วจะนำไปใส่หรือไปใช้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ และจะอ้างว่ามีการสึกหรอเพราะเอาไปใส่ หรือเอาไปใช้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ด้วย แม้จะเป็นเหตุสุดวิสัยที่เสียหายก็อ้างไม่รับผิดไม่ได้ ว่ากันด้วยเรื่องของกำหนดเวลา ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยจะมากำหนดตายตัวกัน ก็ต้องดูพฤติการณ์ว่าน่าจะยืมกันถึงเมื่อไร เช่น ขอยืมรถขับไปใช้พาแฟนเที่ยวเสาร์-อาทิตย์ก็ต้องคิดออกว่าต้องส่งคืนเมื่อใช้เสร็จ แต่ถ้าไม่ได้กำหนดเวลากันเอาไว้ เจ้าของเขาทวงเมื่อใดก็ต้องคืนให้ในทันที แต่ก็ต้องมียืดหยุ่นกันอยู่บ้าง เช่นตอนนี้อยู่ปัตตานีจะให้คืนของทันทีที่กรุงเทพฯ ย่อมทำไม่ได้ เป็นต้น

แม้การยืมจะเป็นเรื่องของน้ำใจ แต่ถ้าคนยืมทำให้เกิดความเสียหายหรือผิดไปจากที่ตกลงก็ถือว่าผิดสัญญาตามกฎหมาย เจ้าของสามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้ไม่ต่างจากการผิดสัญญาอื่นๆ ทั่วไป ไม่ว่าจะเสียหายเพราะของที่เอาไปเกิดชำรุดหรือว่าสูญหายไป หรือไม่ยอมคืนให้ เรื่องยืมเป็นเรื่องทางแพ่งก็จริงอยู่ แต่ก็อาจกลายเป็นเรื่องทางอาญาได้หากยืมไปแล้วไม่คืนเสียอย่างนั้น ก็จะกลายเป็นการยักยอกทรัพย์ไป นอกจากจะผิดใจแล้วยังผิดกฎหมายได้ด้วย แต่ถ้าทรัพย์ที่ยืมไปเกิดเสียหายหรือสูญหายไปเพราะเหตุสุดวิสัย เช่น ไฟไหม้บ้านข้างๆ แล้วลามมาเผาเรือนเราหมดตัว อย่าว่าแต่ของที่ยืมไปจะไม่สามารถคืนให้ แม้แต่บ้านเรือนก็ไม่เหลือไว้อย่างนี้ ถ้าเราไม่มีส่วนในการเกิดเพลิงไหม้ก็ไม่ใช่ว่าเราผิดสัญญา จะมาเรียกร้องค่าเสียหายไม่ได้ การให้ยืมจึงต้องอยู่บนฐานของความเชื่อใจ บวกด้วยความเข้าใจในกฎหมายประกอบกัน

เขียนโดย อรุณวรรณ เจิมจำรูญ (แอนนี่) : นามปากา ผู้ใฝ่ดี

วันอังคารที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2553

ความรู้ใกล้ตัวที่ควรจะรู้ “การจ้างทำของ และจ้างแรงงาน”




จากการที่ได้อ่านหนังสือกฎหมายธุรกิจ ฉบับปรับปรุงใหม่ ของผู้ช่วยศาสตราจารย์อ่อนน้อม คนซื่อ เกี่ยวกับเรื่องการจ้างทำของและจ้างแรงงาน จึงทำให้มีความรู้และความเข้าใจในเรื่องกฎหมายมากขึ้น ทำให้เกิดข้อคิดเห็น และวิเคราะห์เขียนบทความนี้ขึ้น ดังนี้ค่ะ

- กฎหมายจ้างทำของเป็นเอกเทศสัญญาอย่างหนึ่งในประมวลกฎหมายแพ่งฯ เป็นสัญญาที่ผู้รับจ้าง ตกลงจะทำการงานอย่างใดอย่างหนึ่งให้กับผู้ว่าจ้างจนสำเร็จ และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้ค่าตอบแทนเพื่อผลสำเร็จของการงานที่จ้าง
- สัญญาจ้างทำของมีได้ในหลายอาชีพ หลายประเภท ยกตัวอย่างเช่นสัญญารับจ้างก่อสร้างบ้าน ต่อเติมบ้าน เราเอารถ เอาวิทยุไปให้ช่างซ่อมก็ถือเป็นสัญญาจ้างทำของเหมือนกัน หรือแม้แต่เราจ้างแท๊กซี่ให้ไปส่งที่บ้าน หรือโรงเรียน หรือที่ไหนก็แล้วแต่ ก็เป็นสัญญาจ้างทำของเช่นกัน
- สาเหตุที่ต้องมีสัญญาจ้างทำของขึ้นมาบัญญัติไว้ในประมวลแพ่งฯ อันนี้คิดว่าเพื่อเป็นการกำหนดถึงสิทธิและหน้าที่ของผู้จ้างทำของและผู้รับจ้างทำของให้เป็นไปโดยเรียบร้อย

ลักษณะของจ้างทำของ
คือ การที่บุคคลหนึ่ง (ผู้รับจ้าง) ตกลงรับทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง (ผู้ว่าจ้าง) และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการงานที่ทำนั้น โดยผู้ว่าจ้างจะไม่มีอำนาจบังคับบัญชาการทำงานของผู้รับจ้าง ผู้รับจ้างจะทำงานเมื่อใด เวลาใดก็ได้ แต่ต้องทำงานให้แล้วเสร็จภายในกำหนดตามที่ได้ตกลงกัน หรือ อาจกล่าวได้ว่า จ้างทำของเป็นสัญญาที่มุ่งเอาความสำเร็จของงานเป็นสาระสำคัญ โดยเมื่อผู้รับจ้างทำงานสำเร็จแล้วจะได้รับสินจ้างจากผู้ว่าจ้างเป็นการตอบแทน

ลักษณะของจ้างแรงงาน
คือ การที่บุคคลหนึ่ง (ลูกจ้าง) ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง (นายจ้าง) และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ โดยนายจ้างมีอำนาจบังคับบัญชาการทำงานของลูกจ้างได้ ลูกจ้างต้องมาทำงานตามวันเวลาที่นายจ้างกำหนด ไม่จำเป็นต้องทำงานจนเสร็จ

เมื่อต้องการจะพิจารณาว่าการว่าจ้างหรือการงานที่ทำนั้นจะเข้าลักษณะเป็นการผิดสัญญาการจ้างทำของหรือจ้างแรงงาน ก็ให้พิจารณาตามกรณีต่อไปนี้
1) กรณีเข้าลักษณะเป็นจ้างทำของ หากผู้ว่าจ้างไม่จ่ายสินจ้าง (ค่าแรง) ให้กับผู้รับจ้างโดยไม่อาจจะอ้างกฎหมายใดได้ จึงเป็นกรณีที่ผู้ว่าจ้างผิดสัญญาตามสัญญาจ้างทำของ ซึ่งจะต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในลักษณะจ้างทำของ การยื่นฟ้องต้องดูจำนวนทุนทรัพย์ สถานที่มูลคดีเกิด หรือที่อยู่ของผู้ว่าจ้าง โดยยื่นฟ้องต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา (ศาลแพ่ง ศาลจังหวัด หรือศาลแขวง แล้วแต่กรณี)
2) กรณีเข้าลักษณะเป็นจ้างแรงงาน หากนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง (ค่าแรง) ให้กับลูกจ้าง โดยไม่อาจจะอ้างกฎหมายใดได้ จึงเป็นกรณีที่นายจ้างผิดสัญญาตามสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งจะต้องบังคับตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ การดำเนินคดีของลูกจ้างสามารถกระทำได้โดยการยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแห่งท้องที่ที่ลูกจ้างทำงานอยู่หรือที่นายจ้างมีภูมิลำเนาอยู่ หรือยื่นฟ้องคดีต่อศาลแรงงาน ทั้งนี้ลูกจ้างจะต้องเลือกใช้สิทธิเพียงทางใดทางหนึ่งจะใช้สิทธิทั้งสองทางพร้อมกันไม่ได้

ข้อแตกกต่างระหว่าสัญญาจ้างทำของกับสัญญาจ้างแรงงาน

สัญญาจ้างทำของ
1.คู่สัญญาเรียกว่า ผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้าง
2.ผู้รับจ้างตกลงรับจะทำการงานให้จนงานนั้นเสร็จ
3.ถือความสำเร็จของงานเป็นสำคัญ
4.ผู้ว่าจ้างต้องจ่ายเงินสินจ้าง ตามความสำเร็จของงานที่ตกลงกัน
5.ผู้รับจ้างไม่ต้องตามคำสั่งเพียงแต่ทำงานให้เสร็จเรียบร้อยตามสัญญาเท่านั้น
6.ผู้รับจ้างเป็นผู้จัดการหาเครื่องมือสำหรับใช้ทำงานแต่บางครั้งอาจต้องหาสัมภาระด้วย
7.ผู้รับจ้างต้องส่งมอบการงานที่ทำให้ทันเวลาต่อผู้ว่าจ้าง
8.นิติบุคคลเป็นผู้ว่าจ้างได้ และเป็นผู้รับจ้างได้

สัญญาจ้างแรงงาน
1.คู่สัญญาเรียกว่า นายจ้างกับลูกจ้าง
2.ลูกจ้างตกลงทำงานให้ตลอดจนกว่าจะเลิกจ้าง
3.ถือระยะเวลาที่ทำงานให้เป็นสำคัญ
4.นายจ้างต้องจ่ายเงินสินจ้าง หรือค่าจ้าวให้ตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงานให้
5.ลูกจ้างต้องทำงานตามคำสั่งของนายจ้างมีการควบคุมบังคับบัญชากันได้
6.ลูกจ้างไม่ต้องจัดการหาเครื่องมือหรือสัมภาระ เว้นแต่มีข้อตกลงพิเศษ
7.ลูกจ้างไม่ต้องส่งมอบการงานที่ทำให้นายจ้างเพราะอยู่ในการควบคุมดูแลของนายจ้างอยู่แล้ว
8.นิติบุคคลเป็นนายจ้างได้ แต่เป็นลูกจ้างไม่ได้

ความระงับแห่งสัญญาจ้างทำของ
1. เมื่อผู้รับจ้างทำงานเสร็จ แล้วส่งมอบ และได้รับค่าจ้างครบถ้วน
2. เมื่อคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้สิทธิเลิกสัญญา
3. โดยผลของกฎหมาย
(1) ผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาเสียเมื่อใดก็ได้ ถ้าการที่จ้างยังไม่เสร็จ แต่ต้องชดเชยค่าเสียหายที่จะพึงมีให้แก่ผู้รับจ้าง
(2) เมื่อผู้รับจ้างตาย หรือตกเป็นผู้ไม่สามารถทำการงานนั้นได้ ถ้าสาระสำคัญของสัญญาอยู่ที่ความรู้ความสามารถของผู้รับจ้าง

อายุความ
- การฟ้องผู้รับจ้างให้รับผิดในความชำรุดบกพร่อง ต้องฟ้องภายใน 1 ปี
- กรณี ผิดสัญญาจ้าง ต้องฟ้องภายใน 10 ปี

ขอยกตัวอย่างฎีกาการจากทำของ (ที่มา: http://www.lawyerthai.com/forum2/view.php?topic=754)
เพื่อจะได้เข้าใจและนำไปใช่ให้เกิดประโยชน์ได้ต่อไป

คำพิพากษาฎีกาที่ 2077/2542 จำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก่อสร้างอาคารตึกคอนกรีตเสริมเหล็กซึ่งอยู่ติดกับอาคารพาณิชย์ของโจทก์ และตามสัญญารับจ้างเหมางานก่อสร้างระหว่างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะต้องกระทำตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ปฏิบัติตาม จำเลยที่ 1 มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ประกอบข้อเท็จจริงว่าระหว่างการก่อสร้างจำเลยที่ 1 ไปควบคุมดูแลการก่อสร้างตลอดเวลาย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ หรือคำสั่งที่ตนให้ไว้ หรือในการเลือกหาผู้รับจ้างตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 428 แห่ง ป.พ.พ. เมื่อการก่อสร้างอาคารของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก่อให้เกิดความเสียหายแก่อาคารของโจทก์จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น

สุดท้ายนี้ หวังว่าข้อมูลที่นำเสนอนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านไม่มากก็น้อย และสามารถนำไปใช้เป็นข้อคิดในการจ้างหรือรับทำของ รวมทั้งการทำงานหรือว่าจ้างแรงงานทำงานในบริษัทต่างๆซึ่งถือเป็นการจ้างแรงงาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกๆฝ่ายนะคะ

เขียนโดย อรุณวรรณ เจิมจำรูญ (แอนนี่) : นามปากกา ผู้ใฝ่ดี

วันจันทร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ใครคือคนที่ควรจะฝากชีวิต



เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีโอกาสชมภาพยนต์เรื่อง Happy Birthday ซึ่งมีเรื่องราวที่น่าประทับใจมาก โดยเฉพาะบทของพระเอก คุณ อนันดา แอมเวอริ่งแฮม ซึ่งรับบทเป็นผู้ชายที่ได้มอบความรักให้กับผู้หญิงที่ตนรักอย่างสุดหัวใจ และได้ให้คำมั่นสัญญากับผู้หญิงที่ตนรัก ว่าจะรักและดูแลรับผิดชอบชีวิตเธอไปจนตลอดชีวิต

และเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นกับผู้หญิงที่เขารัก เธอประสบอุบัติเหตุจนกลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา ซึ่งมีแต่ร่างกายที่ไร้สมรรภาพ โดยสมองของเธอได้ตายไปแล้ว มีแต่เพียงลมหายใจที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเพื่อรักษาชีวิตร่างกายที่ไร้ซึ่งจิตวิญญาณ ให้มีชีวิตต่อไปในโลกใบนี้ โดยที่เธอไม่สามารถรับรู้ ถึงสุข ทุกข์ หรือภาระใดๆ โดยเฉพาะชีวิตร่างกายจของเธอเองที่ต้องตกเป็นภาระของคนที่รักเธอ ซึ่งก็คือพระเอกที่เป็นคนรัก หรือแฟน แต่ยังมิใช่สามีของเธอที่ถูกต้องตามกฎหมาย และรวมทั้งผู้เป็นพ่อเป็นแม่ของเธอซึ่งเป็นอีกฝ่ายหนึ่งที่เป็นคนที่รักและห่วงใยเธออย่างไม่มีเงื่อนไข

สุดท้ายพ่อแม่ของเธอไม่สามารถอดทนเห็นลูกอยู่ในสภาพ บุคคลที่มีแต่ร่างกายที่ไร้สมรรถภาพ มีเพียงลมหายใจที่ต้องอาศัยเครื่องช่วยหายใจ ซึ่งแพทย์ก็ได้ลงความเห็นว่าเธอเป็นผู้ไร้สมรรถภาพ โดยสมองได้ตายไปแล้ว พ่อแม่ของเธอจึงได้ตัดสินใจยื่นคำร้องเพื่อแจ้งความประสงค์ต่อศาล ให้แพทย์ถอดเครื่องช่วยหายใจเพื่อปลดปล่อยให้ชีวิตของเธอจากไป ดีกว่าอยู่อย่างไร้สมรรถภาพ และไร้ซึ่งจิตวิญญาณ แต่พระเอกของเราก็ได้ยื่นคัดค้านต่อศาล โดยไม่ยินยอม ไม่เห็นด้วยต่อความประสงค์ของผู้ได้ชื่อว่าเป็นพ่อแม่ของเธอ

แต่ในความเป็นจริง ถ้าเราทราบล่วงหน้าว่า ชีวิตจะตกในสภาพเช่นนี้ เราก็สามารถเตรียมพร้อมกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดนี้ได้โดยการแสดงเจตจำนงเป็นลายลักษณ์อักษร บักทึกไว้ว่า เราเลือกที่จะจากไปอย่างเป็นสุขโดยไม่ต้องตกเป็นภาระของใครในสภาพผู้ไร้สมรรถภาพ หรือต้องอยู่อย่างทุกข์ทรมานจากการเจ็บ ป่วยในวาระสุดท้ายของตนเอง

ซึ่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ มาตรา 12 ประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2550
"บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้ว มิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง"

ถึงตอนนี้ เราคงจะตระหนักมากขึ้นว่าเราจะฝากชีวิตไว้กับใครดี หรือถ้าไม่มีใครจริงๆที่เราจะไปฝากชีวิต อย่างน้อยเราก็ยังสามารถที่จะกำหนดชีวิตความเป็นความตายของเราได้ ถ้าเราได้เตรียมพร้อม และวางแผนชีวิตของตนเองไว้ล่วงหน้า

เขียนโดย อรุณวรรณ เจิมจำรูญ : นามปากกา ผู้ใฝ่ดี

วันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ใช้ "น." หรือ "น.ส." ดีหนอ เมื่อจดทะเบียนสมรส


ในอดีตเป็นที่รู้กันดีในหมู่สาวๆ ไม่ว่าจะเป็นสาวน้อย หรือสาวใหญ่ ว่า หลังจากจดทะเบียนสมรสแล้ว ผู้หญิงไทยจะต้องถูกตีตราขึ้นทะเบียน เปลี่ยนคำนำหน้าของตนจาก “นางสาว” มาเป็น “นาง” จึงทำให้ผู้หญิงหลายคนมีคำถามกับตัวเองหลังจากแต่งงานว่า จะจดหรือไม่จดทะเบียนสมรสดีหนอ ปัจจุบันผู้หญิงไทยไม่ห่วงและกังวลแล้วว่า แต่งแล้วจะจดหรือไม่จดทะเบียนสมรสดีหนอ เพราะได้มีพระราชบัญญัติ คำนำหน้านามหญิง พ.ศ.2551 ในกฎหมายมาตราที่ 5 คือ

มาตรา 5 ว่าด้วยหญิงซึ่งจดทะเบียนสมรสแล้ว จะใช้คำนำหน้านามว่า “นาง” หรือ “นางสาว” ได้ตามความสมัครใจ โดยให้
แจ้งต่อนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว

กว่ากฏหมายฉบับนี้จะคลอดออกมาได้ ก็ต้องรวบรวมเหตุและผล นานาประการ ที่จะให้ผู้หญิงไทยได้รับสิทธิเท่าเทียม
กับผู้ชายไทยอย่างแท้จริงโดยเฉพาะเรื่อง คำนำหน้าของผู้หญิงหลังจดทะเบียนสมรสที่เห็นได้ชัดว่ายังมีความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกับผู้ชาย โดยผู้หญิงจะต้องถูกตีตราเปลี่ยนคำนำหน้าจาก “นางสาว” เป็น “นาง” ในขณะที่ผู้ชายที่ผ่านการจดทะเบียนสมรสมาแล้วสักกี่ครั้งก็ตาม ก็ยังคงเป็น นาย ตลอดไป

ดังนั้น ผู้หญิงไทยที่แต่งงานและจดทะเบียนสมรสแล้ว สามารถใช้คำนำหน้านามว่า "นาง" หรือ "นางสาว" ได้ตามความสมัครใจตามพระราชบัญญัติ คำนำหน้านามหญิง พ.ศ. 2551 ซึ่งแต่เดิมต้องเปลี่ยนจาก "นางสาว" มาเป็น "นาง" เท่านั้น

พระราชบัญญัติฉบับนี้นำมาซึ่งความเหมาะสมในด้านความเท่าเทียมกันระหว่างผู้หญิง และ ผู้ชายในสังคมไทย และยังทำให้ผู้หญิงรู้สึกมั่นใจที่จะตัดสินใจใช้ชีวิตคู่กับผู้ชายที่ได้เลือกสรรแล้วอย่างถูกต้อง ตามวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงาม

และเป็นประโยชน์ทั้งทางตรง และทางอ้อม ต่อผู้หญิงไทยทุกคน โดยทำให้ผู้หญิงกล้าที่จะดำเนินและมีชีวิตคู่ไปพร้อมกับความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของตนได้อย่างมั่นใจ เพราะมีสิทธิ เสรีภาพที่จะเลือกเป็น หรือ ไม่เป็น นาง ตามความสมัครใจ หลังจดทะเบียนสมรส และไม่ต้องคอยเปลี่ยนคำนำหน้า จากนางสาว เป็น นางเมื่อจดทะเบียนสมรส หรือสามารถใช้นางสาวต่อไปได้ถ้าต้องจดทะเบียนหย่าเมื่อชีวิตคู่ไม่สมดังหมาย

กระนั้น จึงไม่ต้องสงสัยแล้วว่าผู้หญิงส่วนใหญ่ที่จดทะเบียนสมรสแล้วแล้วจะเลือกใช้คำนำหน้าว่า “น.” หรือ “น.ส.” ดีหนอ อย่างไรก็ดี คำนำหน้านามของผู้หญิงจะเป็นอะไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงจะละทิ้งหน้าที่ รู้ดี รู้ชอบ ในบทบาทหน้าที่ของความเป็นแม่ และเป็นภรรยา ซึ่งต้องมีบทบาทหน้าที่ดูแลปรนนิบัติสามีและเลี้ยงดูบุตรเพื่อความสุขแห่งชีวิตคู่และครอบครัว

เขียนโดย อรุณวรรณ เจิมจำรูญ : นามปากกา ผู้ใฝ่ดี