Home Sweet Home

วันอังคารที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2553

รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม “สินสมรส-สินส่วนตัว“

เงินทองเป็นของนอกกาย แต่ก็น้อยคนนักที่จะหักใจ ไม่ว่าจะเป็นพี่น้อง หรือ พ่อแม่ลูกก็ตาม เงินก็ทำให้ความรักของ คนเหล่านั้นหดหายไปได้

้หลายคู่ที่แต่งงานโดยไม่ได้คำนึงถึงเธอรวย หรือ ฉันจน หรือใครจะคุมกองคลังของครอบครัว แต่เมื่อความรักล่มสลาย
ทั้งสองฝ่ายต่างต้องประหลาดใจที่กฎหมายระบุต่างจากที่น่าจะเป็น หลายรายเป็นฝ่ายเข้ามาควบคุมกำกับดูแลการใช้จ่าย
ในครอบครัว แต่เอาเข้าจริงกลับต้องสูญเสียสิ่งที่คิดว่าเป็นสิทธิของตัวเอง เพราะกฎหมายกับความเข้าใจนั้นเป็นคนละเรื่องเดียวกัน

เมื่อแต่งงานกันแล้ว ทรัพย์สินจะถูกจัดสรรเป็นส่วน คือ

ส่วนที่เป็นสินสมรส (คือ เป็นเจ้าของทรัพย์สินร่วมกัน มีส่วนแบ่งกันคนละครึ่ง)

ส่วนที่เป็นสินส่วนตัว (คือ เป็นทรัพย์สินของใครของมัน ไม่กระเด็นไปยังภรรยาหรือสามี)
แต่อาจจะสับสนบ้างว่า อย่างไหนที่จะส่วนตัว อย่างไหนที่จะร่วมกันเป็นเจ้าของตามกฎหมาย

“สินสมรส” คือ ทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมรส และบรรดาที่เป็นสินส่วนตัวด้วย ส่วนสินส่วนตัวนั้น ได้แก่ ทรัพย์สินที่มีอยู่ แล้วก่อนสมรส หรือบรรดาที่เป็นเครื่องใช้ส่วนตัวทั้งหลาย จนถึงเครื่องประดับตามฐานะ รวมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ แต่หลายคนก็ไม่รู้ว่านอกจากนั้นแล้ว กฎหมายยังขยายความถึงทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสที่มีคนยกให้
หรือได้มรดกมาด้วย แต่ถ้ายกให้หรือเป็นมรดกตามพินัยกรรมที่ระบุว่าให้เป็นสินสมรส ก็ต้องเป็นสินสมรส

เรามักได้ยินข่าวที่พ่อแม่ไม่อยากยกที่ดินให้ลูกสาวที่แต่งงานแล้ว เพราะกลัวจะกลายเป็นสินสมรส แท้จริงแล้ว การยกให้ในระหว่างสมรส ไม่ได้ทำให้ทรัพย์สินนั้นกลายเป็นสินสมรส เว้นเสียแต่ระบุในหนังสือยกให้ว่าเป็นสินสมรส ยิ่งถ้าเป็นมรดกก็แน่นอนที่จะเป็นสินส่วนตัว คู่สมรสจะได้ส่วนแบ่งในสินส่วนตัวต่อเมื่อเราจากโลกนี้ไปแล้ว สินส่วนตัวจึงกลายเป็นมรดก

เวลาจะแต่งงานก็ไม่ค่อยคิดเรื่องนี้ จะมานึกออกก็ตอนต้องแบ่งสมบัติ ซึ่งมักจะแบ่งตอนที่ฝ่ายหนึ่งอยากหย่ากับอีกฝ่ายหนึ่ง โดยเฉพาะบ้านที่ใช้เป็นเรือนหอของเขาและเธอที่เคยสร้างด้วยเงินส่วนตัวของฝ่ายหนึ่ง หรือจากการที่พ่อแม่ของฝ่ายหนึ่งยกให้เป็นของขวัญแต่งงาน

แบบนี้ไม่เหมือนการให้ของขวัญในวันฉลองแต่งงานที่ถือซอง ถือของกันมาเอิกเกริก อย่างนั้นเป็นการให้ที่ชัดเจน ให้แก่คู่บ่าวสาวทั้งสองเนื่องในโอกาสแต่งงาน เป็นสินสมรสแน่นอน แต่ถ้าให้ที่ดิน บ้าน จะให้แน่ต้องสืบตามที่กฎหมายว่าไว้ก็คือ การให้จะมีผลสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนการให้ที่สำนักงานที่ดิน และในการให้ที่จะเป็นสินสมรสนั้น กฎหมายก็เขียนไว้ชัดแจ้งว่า การให้เป็นหนังสือยกให้ต้องระบุว่าเป็นสินสมรส ซึ่งจะเป็นสินสมรส ดังนั้น ถ้าจะให้ใครคนนึงหรือจะให้ทั้งสอง ก็ควรระบุให้ชัดเจน

ยกตัวอย่าง เช่น สมศักดิ์มีเงินฝากในธนาคารก่อนแต่งงาน เป็นเลข 6 หลัก เขาไม่คิดจะปกปิดภรรยาเพราะทราบดีว่า ถึงรู้ไป ก็ไม่น่าเดือดร้อน เพราะเขามีบัญชีร่วมระหว่างเขากับภรรยาแล้ว ส่วนบัญชีเดิมเป็นสินส่วนตัวของเขา แต่หลังจากที่เขากับเธอมีปัญหาจนถึงขั้นแยกทางกัน เงินในบัญชีส่วนตัวของเขาก็ถูกนำมาเป็นเงื่อนไขในการแบ่งสมบัติ และนำไปสู่การฟ้องศาล

ตามกฎหมาย แม้เงินฝากที่ธนาคารในบัญชีของสมศักดิ์จะเป็นเงินส่วนตัวที่มีก่อนสมรส แต่ในการฝากเงินย่อมต้องมีดอกผล งอกเงย สมศรีผู้เป็นภรรยาของสมศักดิ์ไม่ลืมข้อนี้ เธอจึงอ้างเอาดอกเบี้ยเงินฝากของบัญชีดังกล่าว ซึ่งถือเป็นสินสมรสมาขอแบ่งด้วย เมื่ออยู่ด้วยกันกว่า 6ปี จึงมีเงินฝากหลายล้าน งานนี้สมศรีอดีตคุณผู้หญิงของสมศักดิ์มีส่วนแบ่งจากดอกเบี้ยไม่น้อยทีเดียว

ชื่อที่ปรากฏในเอกสารแสดงความเป็นเจ้าของ ก็ไม่ได้หมายความว่า จะทำให้สินสมรสกลายเป็นสินส่วนตัว เพราะกฎหมาย กล่าวว่า ถ้ากรณีที่สงสัยให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส ฝ่ายที่เถียงว่าไม่ใช่ ต้องมีภาระหน้าที่พิสูจน์ให้ได้ ถ้าสมศักดิ์เห็นว่า ตัวเองทำงานงกเงิ่นอยู่คนเดียว จึงสมควรควบคุมดูแลด้านการเงินทุกอย่างอยู่ในชื่อตัวเขาเอง เงินทองทรัพย์สินเหล่านนั้นก็ยังเป็นสินสมรสอยู่ดี แม้จะไม่มีชื่อภรรยาปรากฏอยู่ก็ตาม

ไม่ว่าจะมีชื่อใครอย่างไร แต่เมื่อเป็นสินสมรสแล้ว กฎหมายให้อำนาจทั้งสองฝ่าย ในการจัดการทรัพย์สินนั้นได้โดยอิสระ ไม่ต้องมาขออนุมัติก่อน เว้นแต่เสียบางเรื่องที่อาจจะกระทบกระเทือนถึงความมั่นคงทางการเงินของครอบครัว กฎหมายก็จะบังคับให้ต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง

ผู้เขียนเองก็มี caseหนึ่งที่กว่าจะเข้าใจถ่องแท้ในเรื่องสินสมรส หรือสินส่วนตัว ก็เล่นเอาเสียเงินซื้อที่ดินไปหลายแปลง โดยการซื้อที่ดินของพ่อแม่สามีในราคาถูกแบบขายให้ลูกหลาน โดยเมื่อซื้อแล้วทางพ่อแม่สามีก็โอนให้สามีแบบให้โดยเสน่ห์หา เพื่อผลประโยชน์ทางภาษีที่จะได้ชำระน้อยลงกว่าการซื้อขาย แต่สุดท้ายตามกฎหมายแล้วสินทรัพย์ที่ได้มาจาก บิดา มารดา ที่โอนให้แบบเสน่ห์หาก็ต้องอันตรธานมาเป็นสินส่วนตัวของสามีไปฉิบ ซึ่งไม่ใช่สินสมรส ถึงแม้ว่าเราจะใช้เงินที่หาได้ระหว่างสมรส.... แต่ผู้เขียนก็ไม่รู้สึกโกรธอะไร เพราะว่าตอนนั้นตนเองไม่มีความรู้ความเข้าใจที่แท้จริงในเรื่องกฎหมายการสมรสและถึงแม้ว่าจะรู้ว่าเขาหรอก แต่เต็มใจให้หรอก และยินยอมก็เพราะว่ารักและไว้ใจสามี เพราะเขาเป็นคนดี และรู้สึกดีใจซะอีกที่ได้เขามาเป็นสามี และพ่อของลูก

สุดท้ายนี้ขอให้ท่านผู้อ่านทุกท่านมีความสุขสมรักสมรสทุกสิ่งอย่างนะคะ....

เขียนโดย อรุณวรรณ เจิมจำรูญ (แอนนี่) : นามปาก ผู้ใฝ่ดี

3 ความคิดเห็น:

  1. ตัวอย่างช่วยให้เข้าใจชัดเจนมากขึ้นค่ะ (แต่กระซิบถามนิดนึงว่า ..ครอบครัวสมศักดิ์กับเสกสรร เป็นคนเดียวกัน ใช่ไหมคะ)

    ตอบลบ
  2. ใช่ค่ะ พอดีตอนเขียนง่วงนอนแล้ว และก็ไปนึกถึงเพื่อนที่ชื่อเสกสรร ได้แก้ไขแล้วค่ะ

    ตอบลบ
  3. ยกตัวอย่างได้เห็นภาพชัดเจนมากค่ะ อิจจังเลยอ่ะ ทำให้อยากมีสา....เลยนิ

    ตอบลบ