Home Sweet Home

วันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2553

ยืมเขามา


เวลาใครเขาให้เรายืมอะไรก็คงดีอกดีใจไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเพราะเขาเอื้อเฟื้อหรือว่าเขาเกรงใจเราจึงทำให้อย่างเสียไม่ได้ก็ตามที อย่าคิดว่าปล่อยไปตามนั้น เพราะมันเป็นเรื่องของน้ำใจเพียงอย่างเดียว เรื่องแบบนี้กฎหมายก็ยังขอเข้ามาเกี่ยวจนได้

การให้ยืมถือเป็นสัญญาอย่างหนึ่งที่ไม่ต้องพึ่งตัวหนังสือเป็นสัญญา เว้นแต่ว่าเป็นเรื่องของการยืมเงินที่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างที่เคยเล่าสู่กันไปแล้ว เมื่อยืมกันก็หมายความว่า ฟรี! ไม่มีค่าตอบแทนในทางกฎหมาย แต่จะไปตอบแทนด้านน้ำใจก็ว่ากันไปอีกเรื่องหนึ่ง เพียงแค่คนให้ยืมส่งมอบของที่ยืมให้ไปก็เป็นอันใช้ได้แล้ว สำคัญที่เวลารับของไปก็ต้องให้แน่ใจว่าใช่อย่างที่ต้องการ หรือมีสภาพใช้งานได้ไม่ได้เสียหายตรงไหน ถ้าจะมีความบกพร่องหรือตำหนิอย่างไร ก็ต้องบอกกล่าวให้รู้กันไว้ก่อนรับของไป เพราะเวลาคืนของจะต้องคืนอย่างที่ได้มาจะทำหน้าตาหรือสภาพเปลี่ยนไปหรือเสียหายไม่ได้เด็ดขาด ระหว่างเอาไปใช้จึงต้องดูแลรักษาให้เป็นอย่างดีเหมือนกับเป็นของของเราเอง มันอาจต้องลงทุนกันบ้างในการระวังรักษา เพราะว่าเอาของเขามาฟรีๆ แบบนี้ก็ต้องมีน้ำใจกลับไปบ้าง การระวังรักษาก็จะมาใช้มาตรฐานส่วนตัวไม่ได้ กฎหมายใช้ว่า "วิญญูชน" คือ คนทั่วไปโดยปกติที่พึงจะต้องมีต้องทำ แม้เราจะเป็นคนชุ่ยแค่ไหนกับของตัวเองก็จะทำอย่างนั้นกับของที่ยืมมาไม่ได้ เว้นแต่โดยสภาพของมันอาจต้องเสื่อมไป เช่น ยืมรถไปใช้งานก็คงต้องมีการเสื่อมสภาพไป สำคัญว่าเราใช้โดยบำรุงรักษาอย่างดีก็แล้วกัน

การยืมของไปถ้าระบุวัตถุประสงค์เอาไว้ก็จะใช้เบี่ยงเบนไปไม่ได้ เช่นยืมชุดเสื้อผ้าไปจัดวางโชว์ หรือยืมถ้วยโถโอชามมาตั้งให้คนดู แล้วจะนำไปใส่หรือไปใช้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ และจะอ้างว่ามีการสึกหรอเพราะเอาไปใส่ หรือเอาไปใช้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ด้วย แม้จะเป็นเหตุสุดวิสัยที่เสียหายก็อ้างไม่รับผิดไม่ได้ ว่ากันด้วยเรื่องของกำหนดเวลา ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยจะมากำหนดตายตัวกัน ก็ต้องดูพฤติการณ์ว่าน่าจะยืมกันถึงเมื่อไร เช่น ขอยืมรถขับไปใช้พาแฟนเที่ยวเสาร์-อาทิตย์ก็ต้องคิดออกว่าต้องส่งคืนเมื่อใช้เสร็จ แต่ถ้าไม่ได้กำหนดเวลากันเอาไว้ เจ้าของเขาทวงเมื่อใดก็ต้องคืนให้ในทันที แต่ก็ต้องมียืดหยุ่นกันอยู่บ้าง เช่นตอนนี้อยู่ปัตตานีจะให้คืนของทันทีที่กรุงเทพฯ ย่อมทำไม่ได้ เป็นต้น

แม้การยืมจะเป็นเรื่องของน้ำใจ แต่ถ้าคนยืมทำให้เกิดความเสียหายหรือผิดไปจากที่ตกลงก็ถือว่าผิดสัญญาตามกฎหมาย เจ้าของสามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้ไม่ต่างจากการผิดสัญญาอื่นๆ ทั่วไป ไม่ว่าจะเสียหายเพราะของที่เอาไปเกิดชำรุดหรือว่าสูญหายไป หรือไม่ยอมคืนให้ เรื่องยืมเป็นเรื่องทางแพ่งก็จริงอยู่ แต่ก็อาจกลายเป็นเรื่องทางอาญาได้หากยืมไปแล้วไม่คืนเสียอย่างนั้น ก็จะกลายเป็นการยักยอกทรัพย์ไป นอกจากจะผิดใจแล้วยังผิดกฎหมายได้ด้วย แต่ถ้าทรัพย์ที่ยืมไปเกิดเสียหายหรือสูญหายไปเพราะเหตุสุดวิสัย เช่น ไฟไหม้บ้านข้างๆ แล้วลามมาเผาเรือนเราหมดตัว อย่าว่าแต่ของที่ยืมไปจะไม่สามารถคืนให้ แม้แต่บ้านเรือนก็ไม่เหลือไว้อย่างนี้ ถ้าเราไม่มีส่วนในการเกิดเพลิงไหม้ก็ไม่ใช่ว่าเราผิดสัญญา จะมาเรียกร้องค่าเสียหายไม่ได้ การให้ยืมจึงต้องอยู่บนฐานของความเชื่อใจ บวกด้วยความเข้าใจในกฎหมายประกอบกัน

เขียนโดย อรุณวรรณ เจิมจำรูญ (แอนนี่) : นามปากา ผู้ใฝ่ดี

1 ความคิดเห็น:

  1. เห็นด้วยกับมุมมองเรื่องน้ำใจและชอบที่หยิบประเด็นมาน่าสนใจดีค่ะ

    ตอบลบ