Home Sweet Home

วันเสาร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2553

มรดก


ทรัพย์มรดกตกทอดอย่างไร
การตกทอดแห่งทรัพย์มรดก ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้บัญญัติไว้สรุปได้ดังนี้

1.เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท และเมื่อบุคคลใดต้องถือว่าถึงแก่ความตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท ความหมายของคำว่า "ตาย" ในที่นี้ จะต้องเป็นกรณีที่บุคคลใดตายโดยธรรมชาติหรือตายโดยกฎหมายสมมติที่เราเรียกว่า "การสาบสูญ"

2.กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ ซึ่งจะขออธิบายว่าสิ่งใดเป็นทรัพย์มรดก และสิ่งใดไม่เป็นทรัพย์มรดก คือ

2.1 มรดกหรือกองมรดก ได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดจนสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ ลิขสิทธิ์ สิทธิในเครื่องหมายการค้า หุ้นในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน สิทธิเรียกร้องที่มีค่าหรือราคาเป็นเงินได้ หน้าที่และความรับผิดของเจ้ามรดก และรวมถึงสิทธิต่างๆ บางประการ เช่น สิทธิเหนือพื้นดินซึ่งอาจโอนและรับมรดกกันได้ สิทธิตามสัญญาเช่าซื้อ สิทธิตามสัญญาซื้อขาย ขายฝาก สัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่า (ที่เราเข้าใจกันว่า ค่าเซ้งหรือค่าแป๊ะเจี๊ยะ) สิทธิเรียกร้องค่าชดเชยที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างถือว่าสิทธินี้เป็นมรดกย่อมตกทอดแก่ทายาทของลูกจ้างที่ตายได้ สิทธิเหล่านี้ไม่เป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ตาย จึงถือว่าเป็นมรดก

2.2 กรณีไม่เป็นมรดก ได้แก่ สิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ซึ่งตามกฎหมายหรือโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ เช่น สิทธิอาศัย สิทธิเก็บกินซึ่งสิ้นไปเมื่อผู้ทรงสิทธิเก็บกินถึงแก่ความตาย ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ สิทธิการเช่าซึ่งเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้เช่า เมื่อผู้เช่าตายไปสัญญาเช่าเป็นอันสิ้นสุดลง ไม่เป็นมรดกตกทอดไปยังทายาท เหล่านี้เป็นสิทธิเฉพาะตัวผู้ตายเท่านั้น

3. ทายาทไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน หากว่ากองมรดกมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์มรดก เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิฟ้องร้องเอาจากกองมรดกได้เพียงเท่าที่ทรัพย์มรดกมีอยู่ ทายาทไม่ต้องรับผิดเกินไปกว่านั้น

4. กองมรดกย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยสิทธิตามกฎหมายหรือโดยพินัยกรรม ซึ่งทายาทที่มีสิทธิตามกฎหมาย เรียกว่า "ทายาทโดยธรรม" และทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรม เรียกว่า "ผู้รับพินัยกรรม"

คำว่า "ทายาท" หมายถึง ผู้ที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามที่กฎหมายมรดกกำหนดไว้ มี 2 ประเภท คือ ทายาทโดยธรรม และผู้รับพินัยกรรม บุคคลที่จะรับมรดกได้ในฐานะทายาทโดยธรรมนั้นมีได้แต่เฉพาะบุคคลธรรมดาเท่านั้น แต่ผู้รับพินัยกรรมอาจมีได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล

ดังนั้น จึงสรุปหลักได้ว่า การตกทอดแห่งทรัพย์มรดก โดยหลักแล้ว เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กรรมลง สิทธิในทางทรัพย์สินของผู้ตายย่อมตกทอดไปยังทายาททันที แม้จะยังไม่มีการเปลี่ยนชื่อโอนกรรมสิทธิก็ตาม ทั้งสิทธิและหน้าที่และความรับผิดต่างๆ แต่กฎหมายได้จำกัดความรับผิดของทายาทไว้เพียง "ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน" ฉะนั้น ทายาทจะปฏิเสธหน้าที่และความรับผิดในกรณีที่ทรัพย์สินที่จะตกทอดมาเป็นมรดกมีน้อยกว่าหนี้สินไม่ได้ และเจ้าหนี้ย่อมมีอำนาจฟ้องทายาทนั้นได้ แม้ทายาทจะไม่ได้รับมรดกก็ตาม

3 ความคิดเห็น:

  1. ประเด็นน่าสนใจทุกเรื่องเลยค่ะ บทความนี้โพสแล้วขึ้นตามลำดับใหม่สุดแล้วค่ะ

    ตอบลบ
  2. สาระดีมากๆๆๆครับ

    ตอบลบ
  3. บ๊ะๆๆมีเพลงด้วยยยยย
    แหล่ม...

    ตอบลบ