Home Sweet Home

วันอังคารที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2553

ความรู้ใกล้ตัวที่ควรจะรู้ “การจ้างทำของ และจ้างแรงงาน”




จากการที่ได้อ่านหนังสือกฎหมายธุรกิจ ฉบับปรับปรุงใหม่ ของผู้ช่วยศาสตราจารย์อ่อนน้อม คนซื่อ เกี่ยวกับเรื่องการจ้างทำของและจ้างแรงงาน จึงทำให้มีความรู้และความเข้าใจในเรื่องกฎหมายมากขึ้น ทำให้เกิดข้อคิดเห็น และวิเคราะห์เขียนบทความนี้ขึ้น ดังนี้ค่ะ

- กฎหมายจ้างทำของเป็นเอกเทศสัญญาอย่างหนึ่งในประมวลกฎหมายแพ่งฯ เป็นสัญญาที่ผู้รับจ้าง ตกลงจะทำการงานอย่างใดอย่างหนึ่งให้กับผู้ว่าจ้างจนสำเร็จ และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้ค่าตอบแทนเพื่อผลสำเร็จของการงานที่จ้าง
- สัญญาจ้างทำของมีได้ในหลายอาชีพ หลายประเภท ยกตัวอย่างเช่นสัญญารับจ้างก่อสร้างบ้าน ต่อเติมบ้าน เราเอารถ เอาวิทยุไปให้ช่างซ่อมก็ถือเป็นสัญญาจ้างทำของเหมือนกัน หรือแม้แต่เราจ้างแท๊กซี่ให้ไปส่งที่บ้าน หรือโรงเรียน หรือที่ไหนก็แล้วแต่ ก็เป็นสัญญาจ้างทำของเช่นกัน
- สาเหตุที่ต้องมีสัญญาจ้างทำของขึ้นมาบัญญัติไว้ในประมวลแพ่งฯ อันนี้คิดว่าเพื่อเป็นการกำหนดถึงสิทธิและหน้าที่ของผู้จ้างทำของและผู้รับจ้างทำของให้เป็นไปโดยเรียบร้อย

ลักษณะของจ้างทำของ
คือ การที่บุคคลหนึ่ง (ผู้รับจ้าง) ตกลงรับทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง (ผู้ว่าจ้าง) และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการงานที่ทำนั้น โดยผู้ว่าจ้างจะไม่มีอำนาจบังคับบัญชาการทำงานของผู้รับจ้าง ผู้รับจ้างจะทำงานเมื่อใด เวลาใดก็ได้ แต่ต้องทำงานให้แล้วเสร็จภายในกำหนดตามที่ได้ตกลงกัน หรือ อาจกล่าวได้ว่า จ้างทำของเป็นสัญญาที่มุ่งเอาความสำเร็จของงานเป็นสาระสำคัญ โดยเมื่อผู้รับจ้างทำงานสำเร็จแล้วจะได้รับสินจ้างจากผู้ว่าจ้างเป็นการตอบแทน

ลักษณะของจ้างแรงงาน
คือ การที่บุคคลหนึ่ง (ลูกจ้าง) ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง (นายจ้าง) และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ โดยนายจ้างมีอำนาจบังคับบัญชาการทำงานของลูกจ้างได้ ลูกจ้างต้องมาทำงานตามวันเวลาที่นายจ้างกำหนด ไม่จำเป็นต้องทำงานจนเสร็จ

เมื่อต้องการจะพิจารณาว่าการว่าจ้างหรือการงานที่ทำนั้นจะเข้าลักษณะเป็นการผิดสัญญาการจ้างทำของหรือจ้างแรงงาน ก็ให้พิจารณาตามกรณีต่อไปนี้
1) กรณีเข้าลักษณะเป็นจ้างทำของ หากผู้ว่าจ้างไม่จ่ายสินจ้าง (ค่าแรง) ให้กับผู้รับจ้างโดยไม่อาจจะอ้างกฎหมายใดได้ จึงเป็นกรณีที่ผู้ว่าจ้างผิดสัญญาตามสัญญาจ้างทำของ ซึ่งจะต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในลักษณะจ้างทำของ การยื่นฟ้องต้องดูจำนวนทุนทรัพย์ สถานที่มูลคดีเกิด หรือที่อยู่ของผู้ว่าจ้าง โดยยื่นฟ้องต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา (ศาลแพ่ง ศาลจังหวัด หรือศาลแขวง แล้วแต่กรณี)
2) กรณีเข้าลักษณะเป็นจ้างแรงงาน หากนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง (ค่าแรง) ให้กับลูกจ้าง โดยไม่อาจจะอ้างกฎหมายใดได้ จึงเป็นกรณีที่นายจ้างผิดสัญญาตามสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งจะต้องบังคับตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ การดำเนินคดีของลูกจ้างสามารถกระทำได้โดยการยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแห่งท้องที่ที่ลูกจ้างทำงานอยู่หรือที่นายจ้างมีภูมิลำเนาอยู่ หรือยื่นฟ้องคดีต่อศาลแรงงาน ทั้งนี้ลูกจ้างจะต้องเลือกใช้สิทธิเพียงทางใดทางหนึ่งจะใช้สิทธิทั้งสองทางพร้อมกันไม่ได้

ข้อแตกกต่างระหว่าสัญญาจ้างทำของกับสัญญาจ้างแรงงาน

สัญญาจ้างทำของ
1.คู่สัญญาเรียกว่า ผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้าง
2.ผู้รับจ้างตกลงรับจะทำการงานให้จนงานนั้นเสร็จ
3.ถือความสำเร็จของงานเป็นสำคัญ
4.ผู้ว่าจ้างต้องจ่ายเงินสินจ้าง ตามความสำเร็จของงานที่ตกลงกัน
5.ผู้รับจ้างไม่ต้องตามคำสั่งเพียงแต่ทำงานให้เสร็จเรียบร้อยตามสัญญาเท่านั้น
6.ผู้รับจ้างเป็นผู้จัดการหาเครื่องมือสำหรับใช้ทำงานแต่บางครั้งอาจต้องหาสัมภาระด้วย
7.ผู้รับจ้างต้องส่งมอบการงานที่ทำให้ทันเวลาต่อผู้ว่าจ้าง
8.นิติบุคคลเป็นผู้ว่าจ้างได้ และเป็นผู้รับจ้างได้

สัญญาจ้างแรงงาน
1.คู่สัญญาเรียกว่า นายจ้างกับลูกจ้าง
2.ลูกจ้างตกลงทำงานให้ตลอดจนกว่าจะเลิกจ้าง
3.ถือระยะเวลาที่ทำงานให้เป็นสำคัญ
4.นายจ้างต้องจ่ายเงินสินจ้าง หรือค่าจ้าวให้ตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงานให้
5.ลูกจ้างต้องทำงานตามคำสั่งของนายจ้างมีการควบคุมบังคับบัญชากันได้
6.ลูกจ้างไม่ต้องจัดการหาเครื่องมือหรือสัมภาระ เว้นแต่มีข้อตกลงพิเศษ
7.ลูกจ้างไม่ต้องส่งมอบการงานที่ทำให้นายจ้างเพราะอยู่ในการควบคุมดูแลของนายจ้างอยู่แล้ว
8.นิติบุคคลเป็นนายจ้างได้ แต่เป็นลูกจ้างไม่ได้

ความระงับแห่งสัญญาจ้างทำของ
1. เมื่อผู้รับจ้างทำงานเสร็จ แล้วส่งมอบ และได้รับค่าจ้างครบถ้วน
2. เมื่อคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้สิทธิเลิกสัญญา
3. โดยผลของกฎหมาย
(1) ผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาเสียเมื่อใดก็ได้ ถ้าการที่จ้างยังไม่เสร็จ แต่ต้องชดเชยค่าเสียหายที่จะพึงมีให้แก่ผู้รับจ้าง
(2) เมื่อผู้รับจ้างตาย หรือตกเป็นผู้ไม่สามารถทำการงานนั้นได้ ถ้าสาระสำคัญของสัญญาอยู่ที่ความรู้ความสามารถของผู้รับจ้าง

อายุความ
- การฟ้องผู้รับจ้างให้รับผิดในความชำรุดบกพร่อง ต้องฟ้องภายใน 1 ปี
- กรณี ผิดสัญญาจ้าง ต้องฟ้องภายใน 10 ปี

ขอยกตัวอย่างฎีกาการจากทำของ (ที่มา: http://www.lawyerthai.com/forum2/view.php?topic=754)
เพื่อจะได้เข้าใจและนำไปใช่ให้เกิดประโยชน์ได้ต่อไป

คำพิพากษาฎีกาที่ 2077/2542 จำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก่อสร้างอาคารตึกคอนกรีตเสริมเหล็กซึ่งอยู่ติดกับอาคารพาณิชย์ของโจทก์ และตามสัญญารับจ้างเหมางานก่อสร้างระหว่างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะต้องกระทำตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ปฏิบัติตาม จำเลยที่ 1 มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ประกอบข้อเท็จจริงว่าระหว่างการก่อสร้างจำเลยที่ 1 ไปควบคุมดูแลการก่อสร้างตลอดเวลาย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ หรือคำสั่งที่ตนให้ไว้ หรือในการเลือกหาผู้รับจ้างตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 428 แห่ง ป.พ.พ. เมื่อการก่อสร้างอาคารของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก่อให้เกิดความเสียหายแก่อาคารของโจทก์จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น

สุดท้ายนี้ หวังว่าข้อมูลที่นำเสนอนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านไม่มากก็น้อย และสามารถนำไปใช้เป็นข้อคิดในการจ้างหรือรับทำของ รวมทั้งการทำงานหรือว่าจ้างแรงงานทำงานในบริษัทต่างๆซึ่งถือเป็นการจ้างแรงงาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกๆฝ่ายนะคะ

เขียนโดย อรุณวรรณ เจิมจำรูญ (แอนนี่) : นามปากกา ผู้ใฝ่ดี

3 ความคิดเห็น:

  1. จากบทความนี้มีสาระที่เชื่อว่าผู้อ่าน สามารถเข้าใจเรื่องนี้เพิ่มขึ้นมากมายค่ะ ขอบคุณและจะติดตามผลงานต่อ ๆ ไปค่ะ

    ตอบลบ
  2. ได้สาระที่ดีๆ เยอะมากเลย, Thanks a lot

    ตอบลบ
  3. เป็นบทความที่ดีมาก ทำให้เข้าใจความหมายของสัญญาจ้างแรงงานและสัญญาจ้างทำของ ซึ่งแตกต่างกัน รวมทั้งระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของสัญญา เขียนได้ละเอียดดี อ่านแล้วเข้าใจง่าย

    ตอบลบ