Home Sweet Home

วันจันทร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ใครคือคนที่ควรจะฝากชีวิต



เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีโอกาสชมภาพยนต์เรื่อง Happy Birthday ซึ่งมีเรื่องราวที่น่าประทับใจมาก โดยเฉพาะบทของพระเอก คุณ อนันดา แอมเวอริ่งแฮม ซึ่งรับบทเป็นผู้ชายที่ได้มอบความรักให้กับผู้หญิงที่ตนรักอย่างสุดหัวใจ และได้ให้คำมั่นสัญญากับผู้หญิงที่ตนรัก ว่าจะรักและดูแลรับผิดชอบชีวิตเธอไปจนตลอดชีวิต

และเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นกับผู้หญิงที่เขารัก เธอประสบอุบัติเหตุจนกลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา ซึ่งมีแต่ร่างกายที่ไร้สมรรภาพ โดยสมองของเธอได้ตายไปแล้ว มีแต่เพียงลมหายใจที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเพื่อรักษาชีวิตร่างกายที่ไร้ซึ่งจิตวิญญาณ ให้มีชีวิตต่อไปในโลกใบนี้ โดยที่เธอไม่สามารถรับรู้ ถึงสุข ทุกข์ หรือภาระใดๆ โดยเฉพาะชีวิตร่างกายจของเธอเองที่ต้องตกเป็นภาระของคนที่รักเธอ ซึ่งก็คือพระเอกที่เป็นคนรัก หรือแฟน แต่ยังมิใช่สามีของเธอที่ถูกต้องตามกฎหมาย และรวมทั้งผู้เป็นพ่อเป็นแม่ของเธอซึ่งเป็นอีกฝ่ายหนึ่งที่เป็นคนที่รักและห่วงใยเธออย่างไม่มีเงื่อนไข

สุดท้ายพ่อแม่ของเธอไม่สามารถอดทนเห็นลูกอยู่ในสภาพ บุคคลที่มีแต่ร่างกายที่ไร้สมรรถภาพ มีเพียงลมหายใจที่ต้องอาศัยเครื่องช่วยหายใจ ซึ่งแพทย์ก็ได้ลงความเห็นว่าเธอเป็นผู้ไร้สมรรถภาพ โดยสมองได้ตายไปแล้ว พ่อแม่ของเธอจึงได้ตัดสินใจยื่นคำร้องเพื่อแจ้งความประสงค์ต่อศาล ให้แพทย์ถอดเครื่องช่วยหายใจเพื่อปลดปล่อยให้ชีวิตของเธอจากไป ดีกว่าอยู่อย่างไร้สมรรถภาพ และไร้ซึ่งจิตวิญญาณ แต่พระเอกของเราก็ได้ยื่นคัดค้านต่อศาล โดยไม่ยินยอม ไม่เห็นด้วยต่อความประสงค์ของผู้ได้ชื่อว่าเป็นพ่อแม่ของเธอ

แต่ในความเป็นจริง ถ้าเราทราบล่วงหน้าว่า ชีวิตจะตกในสภาพเช่นนี้ เราก็สามารถเตรียมพร้อมกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดนี้ได้โดยการแสดงเจตจำนงเป็นลายลักษณ์อักษร บักทึกไว้ว่า เราเลือกที่จะจากไปอย่างเป็นสุขโดยไม่ต้องตกเป็นภาระของใครในสภาพผู้ไร้สมรรถภาพ หรือต้องอยู่อย่างทุกข์ทรมานจากการเจ็บ ป่วยในวาระสุดท้ายของตนเอง

ซึ่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ มาตรา 12 ประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2550
"บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้ว มิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง"

ถึงตอนนี้ เราคงจะตระหนักมากขึ้นว่าเราจะฝากชีวิตไว้กับใครดี หรือถ้าไม่มีใครจริงๆที่เราจะไปฝากชีวิต อย่างน้อยเราก็ยังสามารถที่จะกำหนดชีวิตความเป็นความตายของเราได้ ถ้าเราได้เตรียมพร้อม และวางแผนชีวิตของตนเองไว้ล่วงหน้า

เขียนโดย อรุณวรรณ เจิมจำรูญ : นามปากกา ผู้ใฝ่ดี

วันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ใช้ "น." หรือ "น.ส." ดีหนอ เมื่อจดทะเบียนสมรส


ในอดีตเป็นที่รู้กันดีในหมู่สาวๆ ไม่ว่าจะเป็นสาวน้อย หรือสาวใหญ่ ว่า หลังจากจดทะเบียนสมรสแล้ว ผู้หญิงไทยจะต้องถูกตีตราขึ้นทะเบียน เปลี่ยนคำนำหน้าของตนจาก “นางสาว” มาเป็น “นาง” จึงทำให้ผู้หญิงหลายคนมีคำถามกับตัวเองหลังจากแต่งงานว่า จะจดหรือไม่จดทะเบียนสมรสดีหนอ ปัจจุบันผู้หญิงไทยไม่ห่วงและกังวลแล้วว่า แต่งแล้วจะจดหรือไม่จดทะเบียนสมรสดีหนอ เพราะได้มีพระราชบัญญัติ คำนำหน้านามหญิง พ.ศ.2551 ในกฎหมายมาตราที่ 5 คือ

มาตรา 5 ว่าด้วยหญิงซึ่งจดทะเบียนสมรสแล้ว จะใช้คำนำหน้านามว่า “นาง” หรือ “นางสาว” ได้ตามความสมัครใจ โดยให้
แจ้งต่อนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว

กว่ากฏหมายฉบับนี้จะคลอดออกมาได้ ก็ต้องรวบรวมเหตุและผล นานาประการ ที่จะให้ผู้หญิงไทยได้รับสิทธิเท่าเทียม
กับผู้ชายไทยอย่างแท้จริงโดยเฉพาะเรื่อง คำนำหน้าของผู้หญิงหลังจดทะเบียนสมรสที่เห็นได้ชัดว่ายังมีความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกับผู้ชาย โดยผู้หญิงจะต้องถูกตีตราเปลี่ยนคำนำหน้าจาก “นางสาว” เป็น “นาง” ในขณะที่ผู้ชายที่ผ่านการจดทะเบียนสมรสมาแล้วสักกี่ครั้งก็ตาม ก็ยังคงเป็น นาย ตลอดไป

ดังนั้น ผู้หญิงไทยที่แต่งงานและจดทะเบียนสมรสแล้ว สามารถใช้คำนำหน้านามว่า "นาง" หรือ "นางสาว" ได้ตามความสมัครใจตามพระราชบัญญัติ คำนำหน้านามหญิง พ.ศ. 2551 ซึ่งแต่เดิมต้องเปลี่ยนจาก "นางสาว" มาเป็น "นาง" เท่านั้น

พระราชบัญญัติฉบับนี้นำมาซึ่งความเหมาะสมในด้านความเท่าเทียมกันระหว่างผู้หญิง และ ผู้ชายในสังคมไทย และยังทำให้ผู้หญิงรู้สึกมั่นใจที่จะตัดสินใจใช้ชีวิตคู่กับผู้ชายที่ได้เลือกสรรแล้วอย่างถูกต้อง ตามวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงาม

และเป็นประโยชน์ทั้งทางตรง และทางอ้อม ต่อผู้หญิงไทยทุกคน โดยทำให้ผู้หญิงกล้าที่จะดำเนินและมีชีวิตคู่ไปพร้อมกับความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของตนได้อย่างมั่นใจ เพราะมีสิทธิ เสรีภาพที่จะเลือกเป็น หรือ ไม่เป็น นาง ตามความสมัครใจ หลังจดทะเบียนสมรส และไม่ต้องคอยเปลี่ยนคำนำหน้า จากนางสาว เป็น นางเมื่อจดทะเบียนสมรส หรือสามารถใช้นางสาวต่อไปได้ถ้าต้องจดทะเบียนหย่าเมื่อชีวิตคู่ไม่สมดังหมาย

กระนั้น จึงไม่ต้องสงสัยแล้วว่าผู้หญิงส่วนใหญ่ที่จดทะเบียนสมรสแล้วแล้วจะเลือกใช้คำนำหน้าว่า “น.” หรือ “น.ส.” ดีหนอ อย่างไรก็ดี คำนำหน้านามของผู้หญิงจะเป็นอะไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงจะละทิ้งหน้าที่ รู้ดี รู้ชอบ ในบทบาทหน้าที่ของความเป็นแม่ และเป็นภรรยา ซึ่งต้องมีบทบาทหน้าที่ดูแลปรนนิบัติสามีและเลี้ยงดูบุตรเพื่อความสุขแห่งชีวิตคู่และครอบครัว

เขียนโดย อรุณวรรณ เจิมจำรูญ : นามปากกา ผู้ใฝ่ดี

วิเคราะห์บทความเรื่องการซื้อขายสินค้าเงินผ่อน


ในปัจจุบันตามห้างสรรพสินค้าเกือบทุกแห่ง จะมีเครื่องใช้อุปโภค บริโภควางจำหน่ายมากมาย โดยเฉพาะเครื่องใช้เพื่ออำนวยความสะดวกสบายต่างๆ มีทั้งแบบล้ำทันสมัย ทุกรุ่น ทุกยี่ห้อ ซึ่งเป็นทั้งสินค้าที่จำเป็นและสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งล่อตา ล่อใจให้ผู้เดินเที่ยวห้างสรรพสินค้า อดที่จะแวะดู และก็เกิดความต้องการอยากได้มาครอบครองเพื่อตอบสนองความต้องการและนำมาใช้ประโยชน์ของแต่ละคนต่างๆกันไป

ถึงแม้ว่าทุนทรัพย์ในการซื้อไม่เพียงพอ แต่ห้างสรรพสินค้าก็มีบริการให้ซื้อสินค้าแบบเงินผ่อน โดยชำระเป็นงวดประจำเดือนหรือตามเงื่อนไขที่กำหนด

คู่สัญญาตกลงซื้อขายกันได้เรียบร้อยเมื่อใด สัญญาซื้อขายก็สำเร็จบริบูรณ์ หรือ เสร็จเด็ดขาดเมื่อนั้น
1. การโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน
2. การส่งมอบทรัพย์สินแก่ผู้ซื้อ
3. การชำระราคาแก่ผู้ขาย เป็นเพียงหนี้อันเกิดขึ้นแก่คู่สัญญาที่ได้ตกลงซื้อขายทรัพย์สินกัน ไม่ใช่เป็นความสำเร็จบริบูรณ์ หรือ เสร็จเด็ดขาดของการซื้อขาย

การซื้อขายสินค้าเงินผ่อนนั้นเป็นการซื้อขายแบบเสร็จเด็ดขาด โดยที่ผู้ซื้อสามารถรับสินค้าไปได้เลย และสามารถนำมาใช้เอง หรือไปให้ หรือขายต่อใครก็ได้ แต่มีเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายเงินผ่อนว่าจะต้องชำระเงินคืนเป็นงวดๆตามข้อตกลงในสัญญาซื้อขายเงินผ่อนของห้างสรรพสินค้านั้นๆ โดยที่คู่ซื้อตกลงกันเป็นที่เรียบร้อย และผู้ซื้อจะต้องลงนามหรือเซ็นสัญญาซื้อขายนั้น

และถ้าผู้ซื้อไม่ชำระเงินคืนตามงวดและเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญาซื้อขาย ทางห้างฯ ก็จำนำหลักฐานสัญญาซื้อขายมาใช้สำหรับฟ้องร้องให้บังคับคดี ในสัญญาซื้อขาย

การซื้อขายสินค้าเงินผ่อนจึงเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ช่วยตอบสนองความต้องการที่จะมีเครื่องใช้อำนวยความสะดวกแก่ทุกคน ถ้ารู้จักประมาณตน โดยรู้ถึงความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ของตน ก็จะเป็นสุขยิ่ง แต่ถ้าไม่สามารถประมาณตนเองได้ จนทำให้เป็นหนี้ท่วมตัว ท่วมหัว ก็ทำให้เกิดทุกข์ได้มหาศาล

เขียนโดย อรุณวรรณ เจิมจำรูญ : นามปากกา ผู้ใฝ่ดี